ฐานข้อมูลตัวอย่างผึ้งในประเทศไทย

จำนวนตัวอย่างที่มีอยู่ในฐานข้อมูลของ GBIF :

เกี่ยวกับเรา

เว็บไซต์ข้อมูลความหลากหลายของผึ้งในประเทศไทยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยระบบฐานข้อมูลและเว็บไซต์ของผึ้งในประเทศไทย ดำเนินการโดยหน่วยปฏิบัติการผึ้งและแมงมุม ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงและไร ภายใต้ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และองค์กรระดับนานาชาติอย่างศูนย์ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก (Global Biodiversity Information Facility: GBIF) ในส่วนของ Biodiversity Information Fund for Asia (BIFA) โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น

Biodiversity of bees in Thailand website is in part of the “Digitizing and databasing of bee specimens in Thailand” project, which is focused on producing and publishing the database of Thai bee specimens. The project is led by Bee and Spider Research Unit (BSRU) under the Center of Excellent in the biology of insects and mites, Department of Biology, Faculty of Science, Chulalongkorn University. The Global Biodiversity Information Facility (GBIF) takes parts in the project supporting and funding, which the Ministry of the Environment, Government of Japan, provided the funding in the name of the Biodiversity Information Fund for Asia (BIFA) project, while the National Science and Technology Development Agency (NSTDA), is a partner that is providing matching funds.


จุดเริ่มต้นและเป้าหมายของการจัดทำโครงการ

สำหรับการศึกษาความหลากหลายของผึ้งในประเทศไทยของหน่วยปฏิบัติการผึ้งและแมงมุมนั้น ในพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันมีการรวบรวมตัวอย่างผึ้งชนิดต่าง ๆ มากกว่า 12,000 ตัวอย่างจากทั่วประเทศและมีการเก็บตัวอย่างจากภาคสนามเข้าสู่พิพิธภัณฑ์มากขึ้นทุกปี ในขณะที่ทางหน่วยปฏิบัติการผึ้งและแมงมุม ทำงานวิจัยเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพของผึ้งโดยเฉพาะในด้านอนุกรมวิธานมาอย่างยาวนาน และได้รับความร่วมมือในการเข้าถึงตัวอย่างผึ้งในพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นในประเทศไทย เช่น ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา รวมถึงสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงได้ร่วมสร้างงานวิจัยกับทีมวิจัยผึ้งระดับนานาชาติ และจากประสบการณ์การทำงานวิจัยทั้งข้อมูลพื้นฐานด้านอนุกรมวิธาน การกระจายพันธุ์ พฤติกรรม การใช้เทคนิคทางอณูชีววิทยาและสัณฐานวิทยาเข้ามาศึกษาอนุกรมวิธานและวิวัฒนาการ และการศึกษานิเวศวิทยาและชีววิทยาการถ่ายละอองเรณู ทำให้ทางหน่วยปฏิบัติการผึ้งและแมงมุมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพของผึ้งและการจัดการฐานข้อมูลตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์

ข้อมูลพื้นฐานที่มีการจัดการที่เหมาะสม มีมาตรฐานที่เชื่อมโยงเข้ากับฐานข้อมูลหลักทั่วโลกจะช่วยสร้างเครือข่ายนักวิจัยไทยและต่างประเทศ และเมื่อพิจารณาถึงพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความหลากหลายของผึ้งสูงแต่ยังขาดการศึกษาอยู่มากแล้วข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยให้การศึกษาวิจัยในด้านต่าง ๆ พัฒนาไปได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในหัวข้อเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชนิดพันธุ์รุกราน และการขาดหายไปของแมลงผสมเกสร ซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญในปัจจุบัน ดังนั้น จึงได้เกิดเป็นโครงการวิจัยระบบฐานข้อมูลและเว็บไซต์ของผึ้งในประเทศไทย ที่ได้รับความร่วมมือจากทั้งทาง สวทช. ซึ่งมีเป้าหมายมุ่งพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยและเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และทางหน่วยงานระดับนานาชาติอย่าง GBIF ที่มุ่งเน้นการสร้างชุมชนของฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลก ที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ตในมาตรฐานที่เหมาะสม มีการผนวกรวมฐานข้อมูลย่อยต่าง ๆ จากทั่วโลกโดยที่แต่ละส่วนเชื่อมถึงกัน สามารถเข้าถึงและจัดการได้ง่าย ตัวอย่างเช่น ฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมของโครงการบาร์โค้ดแห่งชีวิตระดับประเทศ (International Barcode of Life: iBOL) หรือฐานข้อมูลที่มีการร่วมมือกับข้อมูลวิทยาศาสตร์พลเมือง (citizen science) อย่างเว็บไซต์ iNaturalist ดังนั้น สำหรับฐานข้อมูลผึ้งในประเทศไทย จะมีการเผยแพร่ผ่านฐานข้อมูลหลักของหน่วยงาน GBIF ในส่วนของโครงการ BIFA หัวข้อ Digitizing and databasing of bee specimens in Thailand

ในขณะที่ตัวเว็บไซต์ข้อมูลความหลากหลายของผึ้งในประเทศไทยนี้ จะเป็นการให้ความรู้พื้นฐานของกลุ่มผึ้งโดยเฉพาะเป็นชนิดเด่นหรือมีแง่มุมที่น่าสนใจและเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการศึกษาความหลากหลายของผึ้ง