Database / Apidae / Amegilla (Zonamegilla) anekawarna


ผึ้งขุดหลุมแถบฟ้ามลายู (Malayan Blue Banded-Digger bees)
Amegilla (Zonamegilla) anekawarna Engel, 2007

All images are from GBIF dataset: Database and digitization of bees in Thailand. (licensed under http://creativecommons.org/licenses/by-nc/4.0/)

See Gallery

ข้อมูลทางอนุกรมวิธาน
Order: Hymenoptera
Family: Apidae
Tribe: Anthophorini
Genus: Amegilla
Subgenus: Zonamegilla
Specific epithet: anekawarna
Authorship: Engel, 2007
Scientific Name: Amegilla (Zonamegilla) anekawarna Engel, 2007


ข้อมูลเบื้องต้น : ผึ้งขุดหลุมแถบฟ้ามลายูเป็นผึ้งที่พึ่งจะมีการรายงานชนิดใหม่ในปี 2007 จากตัวอย่างจากรัฐเปรัก (Perak) ประเทศมาเลเซีย และตัวอย่างจากสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย และจากข้อมูลในพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีระบุว่าผึ้งชนิดนี้มีการเข้าผสมเกสรต้นสาบเสือ (Chromolaena odorata (L.) R.M.King & H.Rob.) และชาทองหรือเทียนหยด (Duranta erecta L.) ผึ้งชนิดนี้อาจเป็นผึ้งขุดหลุมแถบฟ้าที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในประเทศไทยเพียงแต่ยังมีปัญหาในเชิงอนุกรมวิธานในอดีต ทำให้ยังไม่สามารถระบุให้ชัดเจนได้ ทั้งนี้ กรณีปัญหาดังกล่าวและข้อมูลทั่วไปของกลุ่มผึ้งแถบฟ้าสามารถดูเพิ่มเติมได้ในหน้าของผึ้งขุดหลุมแถบฟ้าโซนาต้า

ลักษณะเด่น : ผึ้งชนิดนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับผึ้งขุดหลุมแถบฟ้าโซนาต้า คือมีร่างกายสีดำ ส่วนหัวและอกปกคลุมไปด้วยขนสีน้ำตาลและขนสีดำปะปนกัน บริเวณหน้ามีรอยแต้มสีขาวเหลืองปรากฏตามส่วนต่าง ๆ ส่วนท้องจะมีแถบสีที่เกิดจากขนเส้นเล็ก ๆ สีฟ้าเหลือบแสง (metallic blue) เรียงตัวกัน จุดสังเกตที่ต่างกับในชนิดโซนาต้าคือ รอยแต้มสีขาวเหลืองบนหน้า ที่ในผึ้งขุดหลุมแถบฟ้ามลายูเพศเมียจะมีรอยแต้มบนฐานหนวด (scape) ชัดเจนกว่า มีเถบสีปรากฏชัดในปล้องท้องปล้องที่ 5 และเพศผู้จะมีพื้นที่สีดำบนส่วน clypeus เห็นเป็นแถบสองแถบชัดเจน ไม่เหลือเป็นขีดแคบ ๆ แบบในชนิดโซนาต้า

รหัสพันธุกรรม : -

การกระจายพันธุ์ : ประเทศไทย (ขอนแก่น ชลบุรี นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ พังงา สระบุรี) และประเทศมาเลเซีย

เอกสารอ้างอิง :
Engel M. S. 2007. A New Amegilla of the zonata Group from Malaysia and Thailand (Hymenoptera: Apidae). Transactions of the Kansas Academy of Science 110(1): 16-22.

ผู้เขียนบทความ : Pakorn Nalinrachatakan (2021)

แผนที่แสดงพิกัดของตัวอย่างผึ้งในฐานข้อมูล :