Database / Apidae / Apis (Apis s.str.) mellifera


ผึ้งพันธุ์ (European Honey bees)
Apis (Apis s.str.) mellifera Linnaeus, 1758

All images are from GBIF dataset: Database and digitization of bees in Thailand. (licensed under http://creativecommons.org/licenses/by-nc/4.0/)

See Gallery

ข้อมูลทางอนุกรมวิธาน
Order: Hymenoptera
Family: Apidae
Tribe: Apini
Genus: Apis
Subgenus: Apis s.str.
Specific epithet: mellifera
Authorship: Linnaeus, 1758
Scientific Name: Apis (Apis s.str.) mellifera Linnaeus, 1758


ข้อมูลเบื้องต้น : ผึ้งพันธุ์จัดอยู่ในกลุ่มของผึ้งที่ทำรังในพื้นที่ปิด (cavity-nesting bees) มีการสร้างรังเช่นเดียวกับในผึ้งโพรง ผึ้งพันธุ์เป็นผึ้งให้น้ำหวานที่มีถิ่นกำเนิดจากทางยุโรปและเป็นที่รู้จักมากที่สุด เพราะเป็นผึ้งที่สามารถนำมาเลี้ยงในเชิงอุตสาหกรรมและให้ผลผลิตโดยเฉพาะน้ำผึ้งได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงสามารถปรับตัวได้ดี ผึ้งพันธุ์จึงเป็นผึ้งที่ถูกนำมาเลี้ยงในอุตสาหกรรมทั่วโลก และใช้เป็นตัวช่วยผสมเกสรให้ตามสวนต่าง ๆ สำหรับในประเทศไทยนิยมใช้ผึ้งพันธุ์ในการผสมเงาะ ลิ้นจี่ ลำไย และทานตะวัน

ลักษณะเด่น : ผึ้งพันธุ์เป็นผึ้งสกุล Apis ที่มีขนาดกลาง ใหญ่กว่าผึ้งมิ้มแต่เล็กกว่าผึ้งหลวง ขนาดตัวของผึ้งงาน (worker) ยาวประมาณ 1–1.5 เซนติเมตร ขณะที่เพศผู้ (drone) และนางพญา (queen) จะมีขนาดใหญ่กว่า ลักษณะเด่นคือปีกคู่หลังที่ไม่มีเส้น Distal abscissa ปรากฏต่อจากปลายเส้น vein M ส่วน scutum มีสีน้ำตาลอ่อนจนถึงดำ โครงสร้างเหล็กในมีส่วนของ stylet ที่มีหนามยื่นออกจำนวน 2–4 คู่ เพศผู้ไม่มีส่วนยื่น (basitarsal process) ออกมาจากส่วน basitarsus ของขาหลัง และเนื่องจากความนิยมในการนำมาเลี้ยงทำให้เกิดการพัฒนาสายพันธุ์ที่หลากหลายเพิ่มเติมจากธรรมชาติ สายพันธุ์ที่เด่นได้แก่

Apis mellifera mellifera (Dark bees) เป็นผึ้งพันธุ์ของยุโรปตอนเหนือ มีสีเข้ม มีขนาดใหญ่ มักถูกนำไปผสมข้ามพันธุ์กับพันธุ์อื่นๆ
Apis mellifera lingustica (Italian bees) หรือผึ้งพันธุ์อิตาเลียนสีเหลือง เป็นพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย มีความดุร้ายน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น
Apis mellifera carnica (Carniolans bees) หรือผึ้งพันธุ์คานิโอลานส์ มีสีค่อนข้างดำ เป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมเช่นกัน
Apis mellifera caucasica (Caucasians bees) หรือผึ้งพันธุ์คอเคเซียน นิยมเลี้ยงแถบรัสเซียและจีนทางตอนเหนือ
Apis mellifera scutellata (Africa bees) หรือผึ้งแอฟริกา เคยถูกนำเข้าไปยังแถบอเมริกาใต้แต่เกิดการแพร่กระจายผสมกับสายพันธุ์ท้องถิ่น จึงสร้างความเสียหายต่อวงการเลี้ยงผึ้งและระบบนิเวศน์อย่างมากเนื่องจากความดุร้าย

รหัสพันธุกรรม : -

การกระจายพันธุ์ : มีจุดกำเนิดจากทางทวีปยุโรป แต่ปัจจุบันมีการแพร่กระจายไปทั่วโลกเนื่องจากการนำไปใช้เลี้ยงในเชิงอุตสาหกรรม ยกเว้นในบริเวณที่มีอากาศหนาวเย็นมากจนเกินไปอย่างบริเวณที่ใกล้กับขั้วโลก เช่น กรีนแลนด์ ทางตอนเหนือของประเทศแคนาดาและรัสเซีย เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง :
สิริวัฒน์ วงษ์ศิริ, สุรีรัตน์ เดี่ยววาณิชย์. 2555. ชีววิทยาของผึ้ง พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Engel, M. S. 2001. The honey bees of Thailand (Hymenoptera: Apidae). Natural History Bulletin of the Siam Society 49(1): 113 –116.
Jayasvasti, S. & S. Wongsiri. 1993. Scanning electron microscopy analysis of honey bee - stings of six species (Apis florea, Apis dorsata, Apis cerana, Apis koschevnikovi, Apis florea, and Apis andreniformis). Honeybee Science 14: 105–109.


ผู้เขียนบทความ : Chawatat Thanoosing (2021)

แผนที่แสดงพิกัดของตัวอย่างผึ้งในฐานข้อมูล :