Database / Apidae / Xylocopa (Maiella) minor


แมลงภู่หลังเหลืองไมเนอร์ (Yellow-sided Carpenter bees)
Xylocopa (Maiella) minor Maidl, 1912

ข้อมูลทางอนุกรมวิธาน
Order: Hymenoptera
Family: Apidae
Tribe: Xylocopini
Genus: Xylocopa
Subgenus: Maiella
Specific epithet: minor
Authorship: Maidl, 1912
Scientific Name: Xylocopa (Maiella) minor Maidl, 1912


ข้อมูลเบื้องต้น : แมลงภู่หลังเหลืองไมเนอร์เป็นแมลงภู่หลังเหลืองที่พบได้ง่ายที่สุดในประเทศไทย ทั่วไปแล้วกลุ่มแมลงภู่หลังเหลืองมีการดำรงชีวิตแบบกึ่งสังคม (subsocial) มักเจาะไม้เพื่อทำรังตามเศษไม้ผุ และยังสามารถเจาะเสาไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้ต่างๆ เพื่อสร้างรังได้จึงมักพบได้ในเขตชุมชน ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาทางอนุกรมวิธานที่ในอดีตมักจะระบุกลุ่มของแมลงภู่หลังเหลืองส่วนใหญ่ในไทยเป็นชนิดแมลงภู่หลังเหลืองเอสตวน (X. (Maiella) aestuans (Linnaeus, 1758)) ผนวกกับปัญหาเรื่องชนิดพันธุ์ซ่อนเร้น (cryptic species) ซึ่งยังมีอีกหลายชนิดที่มีลักษณะใกล้เคียงกันจนระบุได้ยาก และทำให้การจับคู่เพศมีปัญหา ทำให้ข้อมูลในระดับชนิดของแมลงภู่ชนิดนี้ยังมีไม่ชัดเจนนัก

ลักษณะเด่น : ผึ้งกลุ่มแมลงภู่หลังเหลืองมักจะมีเพศเมียที่แตกต่างกับเพศผู้ชัดเจน (strong sexual dimorphism) โดยเพศเมียจะมีร่างกายสีดำและมีขนสีเหลืองปกคลุมส่วนอก ขณะที่ในเพศผู้จะมีส่วนหัวขนาดเล็ก และมักมีขนสีโทนเหลืองปกคลุมทั่วร่างกาย ทั้งนี้ในการระบุชนิดของแมลงภู่หลังเหลืองไมเนอร์ ลักษณะที่นักอนุกรมวิธานผึ้งค่อนข้างยอมรับในเพศเมียคือการที่ขนสีเหลืองที่ปกคลุมด้านหลังของส่วนอกมีการแผ่ขยายลงมาใต้ช่องปีก

รหัสพันธุกรรม : -

การกระจายพันธุ์ : พบได้ง่ายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยและยังสามารถพบได้ตามเขตชุมชนเมือง นอกจากนี้ยังมีรายงานการพบในประเทศเวียดนาม พม่า กัมพูชา และอาจพบในประเทศอินเดีย (รัฐสิขขิม) อีกด้วย แต่ข้อมูลนี้อาจมาจากความผิดพลาดของการบันทึกสถานที่เก็บตัวอย่างในอดีต

เอกสารอ้างอิง :
Lieftinck, M. A. 1964. The identity of Apis aestuans Linn?, 1758, and related Old World carpenter-bees (Xylocopa Latr.). Tijdschrift voor Entomologie, vol. 107, no. 3. 137-158.

ผู้เขียนบทความ : Pakorn Nalinrachatakan (2021)

แผนที่แสดงพิกัดของตัวอย่างผึ้งในฐานข้อมูล :