“นี่คือจุดเริ่มต้นของภารกิจอันใหญ่หลวงในการพิทักษ์เหล่าผึ้งและแมลงผสมเกสร.. และไม่ใช่แค่เพียงลมปาก แต่เราต้องทำ”

นี่คือคำพูดที่แปลมาจากประโยคของ เดยัน ซีดาน (Dejan Židan) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และอาหารของสาธารณรัฐสโลวีเนีย ในฐานะหัวหน้าโครงการ “World Bee Day” ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ซึ่งในปี ค.ศ. 2021 นี้มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 194 ประเทศรวมถึงประเทศไทย และยังมีสมาชิกสมทบอีก 2 ประเทศ

ภาพที่ 1 แแสดงความหลากหลายของผึ้งในประเทศไทย ภาพนี้จัดทำโดยหน่วยปฏิบัติการผึ้งและแมงมุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในโอกาศวันผึ้งโลก

แล้ว... “ผึ้งและแมลงผสมเกสร” มีบทบาทสำคัญอย่างไรในธรรมชาติเหตุใดองค์กรระดับนานาชาติอย่าง FAO จึงรับเรื่องของสาธารณรัฐสโลวีเนียและสมาคมผู้เลี้ยงผึ้งนานาชาติ (Apimondia) ในการจัดตั้งโครงการ “World Bee Day” รวมถึงโครงการอื่น ๆ ในการอนุรักษ์ผึ้ง? บทความนี้ จะเล่าถึงความสำคัญ บทบาทในธรรมชาติ รวมถึงข้อมูลเบื้องต้นในทางชีววิทยา ที่ผึ้งมีในฐานะแมลงผสมเกสร

ก่อนที่จะกล่าวถึงบทบาทของผึ้งในรายละเอียด ผู้เขียนขอกล่าวถึงโครงการ “World Bee Day” หรือ “วันผึ้งโลก” ก่อน โครงการนี้ได้รับการอนุมัติโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ในปี ค.ศ. 2017 ให้ระบุวันที่ 20 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันผึ้งโลก โดยยึดตรงกับวันเกิดของ Anton Janša ผู้ที่บุกเบิกวงการเลี้ยงผึ้งสมัยใหม่ (modern apiculture) ตั้งแต่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ตัวโครงการนี้จัดตั้งเพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปได้เข้าใจถึงความสำคัญของผึ้งและสัตว์ที่ช่วยผสมเกสรอื่น ๆ รวมถึงการเลี้ยงผึ้ง ทั้งในแง่ของการช่วยให้มนุษย์มีอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลก และในแง่ของการมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ ทั้งนี้ ด้วยความที่ผึ้งเป็นตัวช่วยผสมเกสรที่สำคัญของพืชดอก ทำให้พืชสามารถสืบพันธุ์ติดผลได้ดี นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าผึ้งมีบทบาทในการผลิตผลผลิตทางการเกษตรให้กว่า 87% ของผลผลิตทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 235-577 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมไปถึงหากมองในแง่ของการเลี้ยงผึ้งในเชิงเศรษฐกิจแล้ว ผลิตภัณฑ์จากผึ้งอย่างไขผึ้ง (beewax) น้ำผึ้ง (honey) นมผึ้ง (royal jelly) พิษผึ้ง (bee venom) และพรอพอลิส (propolis) ก็ล้วนมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ทั้งในแง่ของวัฒนธรรม การบริโภค การประยุกต์ใช้ การวิจัยยาและเวชภัณฑ์ หรืออื่น ๆ ทั้งหมดนี้นี้ช่วยเน้นย้ำความสำคัญของผึ้งที่มีต่อทั้งระบบนิเวศและมนุษยชาติได้เป็นอย่างดี

ภาพที่ 2 ผึ้งให้น้ำหวานในรังเลี้ยง กำลังดูดสะสมน้ำหวานไว้ในกระเพาะพัก เพื่อนำไปเก็บภายในรัง

ทว่า สถานการณ์ของผึ้งในปัจจุบันกลับไม่สู้ดีนัก เรากำลังเผชิญกับปัญหาสภาวะโลกร้อน การขยายตัวของชุมชนเมือง การบุกรุกพื้นที่ธรรมชาติ ปัญหาขยะและมลพิษที่มนุษย์สร้างขึ้นสะสมในสิ่งแวดล้อม และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้ในปัจจุบันผึ้งและสัตว์ที่ช่วยผสมเกสรอื่น ๆ มีอัตราการตายที่สูงขึ้นมาก และมีอัตราการสูญพันธุ์มากกว่าปกติกว่า 100 – 1,000 เท่า ความหลากหลายทางชีวภาพที่จะหายไปในอนาคตย่อมสร้างความเสียหายวิกฤต ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงมุ่งที่จะให้สังคมได้รับรู้ถึงความสำคัญของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก่อนที่เหตุการณ์วิกฤตกำลังจะเกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วนอกจากการขาดแคลนทรัพยากรอาหาร เราอาจสูญเสียผึ้งป่า พืช หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกหลายชนิดที่เกี่ยวข้อง ที่เรายังแทบไม่มีข้อมูลหรือไม่แม้แต่จะเคยรู้ว่ามีตัวตนอยู่ด้วยซ้ำ สำหรับธีมของวันผึ้งโลกในปี ค.ศ. 2021 นี้ อยู่ในธีม “Bee Engaged – Build Back Better for Bees” ซึ่งเนื่องจากปัญหาการระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่ทำให้การทำงานต่าง ๆ ทั่วโลกประสบปัญหา ทำให้การประชาสัมพันธ์มาในรูปแบบของ virtual event เป็นหลัก แต่ยังมีเป้าหมายในการเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงความสำคัญของผึ้งและปัญหาที่มนุษยชาติกำลังพบ ซึ่งการช่วยกันของทั้งภาครัฐ หน่วยงานอกชน นักวิจัย รวมไปถึงบุคคลทั่วไปในการอนุรักษ์ผึ้งทั้งทางตรงและทางอ้อมยังคงเป็นสิ่งสำคัญ


ภาพที่ 3 ผึ้งขุดหลุมสกุล Amegilla กำลังยื่นส่วนของรยางค์ปากเข้าไปภายในดอกไม้ เพื่อดูดเอาน้ำหวาน

ผึ้งในฐานะแมลงผสมเกสร ผึ้งเป็นแมลงที่มีพัฒนาการเพื่อบริโภคพืช มีการบริโภคเรณู (pollen) เป็นแหล่งโปรตีนหลัก และบริโภคน้ำต้อยหรือน้ำหวานดอกไม้ (nectar) เป็นแหล่งพลังงานหลัก ดังนั้นในระหว่างการตอมดอกไม้แต่ละดอก จะทำให้มีโอกาสที่เรณูของพืชชนิดเดียวกันนั้นจะตกลงไปยังยอดเกสรเพศเมีย (stigma) ของอีกดอกหนึ่ง จึงเพิ่มโอกาสในการถ่ายละอองเรณู (pollination) สำเร็จของพืชดอกนั้น ๆ ดังนั้นผึ้งจึงมีบทบาทเป็นตัวช่วยผสมเกสร (pollinator) ที่สำคัญของพืชดอก โดยผึ้งจะมีการพัฒนาลักษณะหลายอย่างให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคพืช รยางค์ปากจะพัฒนาให้ใช้ได้ทั้งการเคี้ยวและการเลีย (chewing-lapping) ซึ่งส่วนกรามจะมีไว้เพื่อกัดเคี้ยววัตถุดิบสำหรับสร้างรัง ป้องกันตัว หรือปั้นก้อนอาหาร เป็นต้น และจะมีส่วนงวงยื่นคล้ายลิ้น (proboscis) เพื่อใช้เลียดูดน้ำหวานจากดอกไม้ โดยทั่วไปแล้วผึ้งจะมีขนขึ้นตามร่างกาย ขนพวกนี้มักมีลักษณะเป็นพู่แตกแขนงคล้ายขนนก (plumose hair) ทำให้ในการตอมดอกแต่ละครั้ง จะมีเรณูของดอกไม้ที่ติดตามขนบนร่างกายเหล่านี้ได้ด้วยทั้งแรงกลจากการแตะ ครูด ถู ของตัวผึ้งกับเรณู รวมถึงการเกิดไฟฟ้าสถิต (electrostatic) ระหว่างเส้นขนกับเรณู เมื่อมีเรณูติดตาม

ตัวผึ้งแล้ว ตัวผึ้งสามารถใช้ขาหรือรยางค์ปาก (ที่มักจะมีโครงสร้างดัดแปลงที่ทำหน้าที่คล้ายกับหวี) ปัดเก็บรวบรวมเรณูที่ติดอยู่ตามตัวออกมาเพื่อบริโภคหรือรวบรวมไปยังโครงสร้างเก็บเรณูต่อไป จุดที่สำคัญคือผึ้งเพศเมียหลายชนิดจะมีการพัฒนาโครงสร้างเก็บเรณูขึ้นมาใช้งาน เนื่องจากผึ้งเพศเมียมักจำเป็นต้องสะสมอาหารปริมาณมากเพื่อนำกลับไปเลี้ยงดูตัวอ่อน


ภาพที่ 4 ตะกร้าเก็บเรณู (pollen basket) ของผึ้งให้น้ำหวานชนิด Apis mellifera Linnaeus, 1758 วรรณะงาน (worker) โดยแสดงโครงสร้างส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

จุดที่สำคัญคือผึ้งเพศเมียหลายชนิดจะมีการพัฒนาโครงสร้างเก็บเรณูขึ้นมาใช้งาน เนื่องจากผึ้งเพศเมียมักจำเป็นต้องสะสมอาหารปริมาณมากเพื่อนำกลับไปเลี้ยงดูตัวอ่อน สำหรับการพัฒนาโครงสร้างเก็บเรณู เพื่อที่จะแบกเอาเรณูกลับไปยังรังได้ จะมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น

ตะกร้าเก็บเรณู (pollen basket)
เป็นอวัยวะพิเศษที่จะพบในกลุ่มผึ้งให้น้ำหวาน เช่น ผึ้งในสกุล Apis ผึ้งหึ่งสกุล Bombus และชันโรงชนิดต่าง ๆ (เผ่า Meliponini) ซึ่งทั้งหมดมีการดำรงชีวิตแบบเป็นสังคม สำหรับอวัยวะนี้จะอยู่ที่ขาหลังของผึ้งเพศเมีย โดยมีโครงสร้างสำคัญดังนี้

ส่วน tibia จะมีการขยายแผ่กว้าง พื้นผิวด้านนอกจะยุบลงเป็นแอ่งหลุมใช้สำหรับเก็บเรณู เรียกว่า “pollen basket” หรือ “corbicular” ด้านข้างจะมีแนวขนยาวเรียงเป็นแถวโอบเข้ามาอย่างหลวม ๆ ขณะที่ด้านปลายที่ชิดกับ basitarsus จะมีขนหนาเรียงเป็นแถวทำหน้าที่คล้ายคราดเรียกว่า “pollen rake” หรือ “pecten”

ส่วน basitarsus ซึ่งเป็นข้อขาส่วนที่ต่อมาจากส่วน tibia จะมีการขยายใหญ่ พื้นผิวด้านในจะมีแผงขนอยู่หนาแน่น เรียกว่า “pollen brush” ขณะที่ด้านที่ชิดกับ tibia จะมีลักษณธเป็นเบ้ารับ (มักเรียกกันว่า auricle) มีหนามสั้น ๆ ขนาดเล็กเรียงเต็มพื้นผิว ใช้สำหรับบีบอัดเรณู

พื้นที่ว่างระหว่างปล้องขาส่วน tibia และ basitarsus จะมีพื้นที่ว่างเป็นแอ่งที่ tibia กับ basitarsus งอสบกันได้ โดยพื้นผิวของ basitarsus จะทำหน้าที่เป็นเบ้ารับ บริเวณนี้จะเรียกว่า “pollen press”


ภาพที่ 5 แสดงตัวอย่างของผึ้งในประเทศไทยที่มีตะกร้าเก็บเรณู (pollen basket) ประกอบไปด้วยผึ้งวรรณะงาน (worker) ของ ผึ้งโพรง (Apis cerana Fabricius, 1793) (ซ้ายล่าง) ผึ้งหึ่งหยาดเลือด (Bombus haemorrhoidalis Smith, 1852) (ขวาบน) และชันโรงปากแตรใหญ่ (Lepidotrigona terminata (Smith, 1878)) (ขวาล่าง)

สำหรับการเก็บเรณูเข้าสู่ตะกร้าเก็บเรณู จะมีขั้นตอนโดยคร่าวดังนี้...

1. ผึ้งจะใช้ขาหลังปัดรวบรวมเรณูที่ติดอยู่ตามร่างกายทั้งหมดให้มาติดอยู่ใน pollen brush (ซึ่งอยู่บนพื้นผิวด้านในของ basitarsus) ก่อน โดยจะมีการคายเอาน้ำต้อยหรือน้ำหวานดอกไม้มาผสม ทำให้เรณูที่ติดอยู่มีลักษณะเปียกชุ่มและเกาะกันหนืด

2. หลังจากนั้น ผึ้งจะใช้ขาอีกข้างหนึ่ง เอื้อมเข้ามาครูดเก็บเรณูด้วยส่วน pollen rake ที่ทำหน้าที่คล้ายคราด ดังนั้น หากในตอนเริ่มต้นก้อนเรณูอยู่ใน pollen brush ของขาข้างซ้าย ผึ้งก็จะใช้ขาข้างขวาครูด เรณูที่ถูกครูดก็จะถูกย้ายไปติดที่ขาข้างขวา และเนื่องจากตำแหน่งของตัวคราดอย่าง pollen rake ที่หันงอเข้าสู่ส่วน pollen press แล้ว การครูดก็จะทำให้เรณูทั้งหมดที่กวาดมาติดอยู่ในพื้นที่ว่างของ pollen press

3. มื่อมีเรณูอยู่ใน pollen press แล้ว ผึ้งจะบีบข้อขา หรือก็คือบีบ pollen press เข้าหากัน และด้วยลักษณะของ pollen press ที่เป็นเบ้าที่ด้านของ basitarsus ในการบีบจึงทำให้เรณูในเบ้าถูกบีบอัดขึ้นไปด้านบนและแปะอยู่บนแอ่งของส่วน tibia นั่นเอง

4. เมื่อทำขั้นตอนเหล่านี้ซ้ำไปเรื่อย ๆ ก็จะได้เรณูที่อัดเป็นก้อนใหญ่ (pellet) แปะอยู่จนเต็ม pollen basket พร้อมที่จะให้ผึ้งนำกลับไปเก็บในรัง ซึ่ง pellet นี้เป็นสิ่งเดียวกันกับเรณูผึ้งที่มีขายบรรจุถุง (ที่มักเรียกกันง่าย ๆ ว่าเกสรผึ้ง) ที่เป็นก้อนเล็กหลายก้อนบรรจุภายในถุง เพราะในขั้นตอนการเก็บก็มาจากการวางกล่องตะแกรงดักเรณูจากขาผึ้งที่ปากทางเข้ารัง ทำให้ pellet หลุดออกมานั่นเอง

แผงขนเก็บเรณู (scopa) มีลักษณะเป็นแผงขนยาว ที่มาเรียงตัวเป็นแผงและใช้เป็นบริเวณสำหรับเก็บเรณูโดยเฉพาะ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไปในผึ้งแต่ละกลุ่ม ตัว scopa อาจเกิดมาจากขนที่ยาวเรียวเป็นเส้นตรง ขนที่มีการแตกแขนงเป็นพู่คล้ายขนนก ขนที่มีปลายโป่งคล้ายเข็มหมุด หรือขนชนิดอื่น ๆ ลักษณะของขนที่ต่างกันนี้มีผลต่อศักยภาพในการกักเก็บเรณูของพืชชนิดที่แตกต่างกันไป เช่น scopa ที่ประกอบด้วยขนเล็กที่แตกแขนงมากและเรียงตัวกันแน่น จะสามารถกักเรณูที่มีขนาดเล็ก และใน scopa ที่ประกอบไปด้วยขนหนาเส้นใหญ่ที่มีการแตกแขนงน้อยกว่า ก็จะเหมาะกับการกักเรณูที่มีขนาดใหญ่มากกว่า

โครงสร้างที่เรียกว่า scopa นี้สามารถพบได้หลายตำแหน่งบนตัวผึ้งแต่โดยมากมักจะพบในบริเวณด้านท้องของส่วนท้อง (metasoma) เช่น ผึ้งในวงศ์ Megachilidae อย่างพวกผึ้งกัดใบหรือผึ้งยางไม้ หรือในวงศ์ Halictidae บางชนิด หรือพบในบริเวณขาหลัง เช่น บนปล้องขาส่วน trochanter, femur ของผึ้งในวงศ์ Halictidae ส่วนใหญ่ หรือบนปล้องขาส่วน tibia และ tarsus ของผึ้งในวงศ์ Melittidae เป็นต้น ตำแหน่งของ scopa ที่พบแตกต่างกันนี้ยังสอดคล้องกับเทคนิคและพฤติกรรมการเก็บเรณูจากดอกไม้ที่แตกต่างกันในผึ้งแต่ละชนิดอีกด้วย

ภาพที่ 6 แผงขนเก็บเรณู (scopa) ที่ส่วนท้องของผึ้งยางไม้ท้องส้มสเตาต้า (Megachile (Carinula) stulta Bingham, 1897) โดยแสดงมุมด้านข้าง ที่บิดปล้องท้อง (metasoma) ให้หันด้านท้องจนเห็นแผง scopa ชัดเจน


ภาพที่ 7 แผงขนเก็บเรณู (scopa) ที่ส่วนขาหลังของผึ้งช่างไม้จิ๋วมรกต (Ceratina (Pithitis) smaragdula Fabricius, 1787) (ซ้าย) และผึ้งอินทรธนูสยาม (Pseudapis (Pseudapis s. str) siamensis Cockerell, 1929) (ขวา) จะเห็นว่า scopa ของทั้งสองชนิดมีลักษณะและตำแหน่งที่ปรากฏบนแต่ละปล้องแตกต่างกัน ถึงแม้ว่าจะปรากฏที่ขาหลังเหมือนกัน

ในผึ้งบางกลุ่ม เพศเมียจะไม่มีโครงสร้างเก็บเรณูภายนอก แต่จะมีการเก็บสะสมภายในกระเพาะพัก (crop) แทน เช่น ผึ้งในวงศ์ Colletidae วงศ์ย่อย Hyaelinae และ Euryglossinae นอกจากนี้ ในผึ้งที่มีการดำรงชีวิตเป็นปรสิตในระยะตัวอ่อน (cleptoparasitic bee) อย่างเช่นผึ้งในสกุล Euaspis, Thyreus, และ Sphecodes นั้น ผึ้งกลุ่มนี้มักจะไม่มีการพัฒนาโครงสร้างเก็บเรณู เนื่องจากด้วยธรรมชาติที่ตัวอ่อนจะแย่งกินอาหารที่มีภายในรังของผึ้งเจ้าบ้าน (host) อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องเก็บเรณูให้ตัวอ่อนด้วยตัวเอง

วิธีการเก็บเรณูของผึ้ง
ในการเก็บเอาเรณูออกจากแหล่งอาหารอย่างดอกไม้เพื่อใช้ในการบริโภค ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ได้นิยามคำที่ใช้ระบุประเภทของพฤติกรรมการเก็บเรณูจากแหล่งอาหารของผึ้ง (pollen gathering behavior) ไว้ทั้งหมด 6 รูปแบบหลัก ๆ ดังนี้

Scraping with the extremities : การใช้รยางค์ส่วนขาหรือโครงสร้างปากในการขูดดึงเอาเรณูออกจากแหล่งอาหารอย่างดอกไม้โดยตรง เรณูจะติดตามขนบนร่างกาย

Buzzing : การสั่นกล้ามเนื้อส่วนที่ใช้ในการบินในขณะที่เกาะบนแหล่งอาหาร เพื่อให้เรณูหลุดออกจากอับเรณูด้วยแรงสั่น โปรยลงบนตัวผึ้ง มักใช้กับดอกไม้ที่มีอับเรณูแบบกระเปาะที่มีช่องเปิดที่ส่วนปลาย (poricidal anther) เช่นพืชในวงศ์มะเขือ (Solanaceae) การสั่นแบบนี้ยังทำให้เกิดเสียงดังอันเป็นเอกลักษณ์ (buzz)

Rubbing with the body and/or scopa(e) : การเก็บเรณูโดยตรงจากอับเรณูโดยการถูด้วยร่างกายเป็นจังหวะ หรือด้วยแผงขนเก็บเรณู (scopa) ที่ส่วนท้อง เรณูจะหลุดออกมาติดตามขนบนร่างกายหรือในแผงขนเก็บเรณู

Tapping : การเก็บเรณูจากแหล่งอาหารโดยการขยับส่วนท้อง (metasoma) ขึ้นลงเป็นจังหวะอย่างรวดเร็ว ซึ่งแตกต่างจากการถู แต่เรณูจะหลุดออกมาติดตามขนบนร่างกายหรือในแผงขนเก็บเรณูเช่นเดียวกัน

Rubbing with the face : การใช้ส่วนใบหน้าในการถูหรือแตะกับอับเรณูโดยตรง ด้วยการขย่มร่างกายเป็นจังหวะ การขย่มในลักษณะนี้จะทำให้ตัวผึ้งและดอกไม้ขยับในความเร็วและทิศทางที่ต่างกันทำให้เกิดการถูกันระหว่างใบหน้าของผึ้งและอับเรณู

Rasping : การถูส่วนล่างของส่วนอก (mesosoma) เข้ากับอับเรณู โดยใช้การครูดร่างกายเข้าออกจากท่อดอกที่ภายในมีอับเรณูอยู่


ภาพที่ 8 แสดงการเข้าเก็บเรณูของผึ้งชนิดต่าง ๆ บนดอกไม้ที่มีลักษณะแตกต่างกัน จะเห็นว่าในแต่ละกรณีก็จะมีลักษณะการเข้าเก็บที่แตกต่างกัน

เรามักพบผึ้งเพศเมียตามดอกไม้ได้ง่ายกว่าเพศผู้ เนื่องจากการผึ้งเพศเมียที่จะต้องเก็บสะสมเรณูไปยังโครงสร้างเก็บเรณูต่าง ๆ เพื่อนำกลับไปเลี้ยงดูตัวอ่อนภายในรัง จึงทำให้มีการใช้เวลาบนดอกไม้นานกว่า เทคนิคการเก็บเรณูจึงค่อนข้างสอดคล้องกับบตำแหน่งและลักษณะของโครงสร้างเก็บเรณูในผึ้งชนิดนั้น ๆ ผึ้งบางชนิดยังมีการพัฒนาร่างกายให้มีโครงสร้างพิเศษที่ช่วยให้สามารถเก็บอาหารออกจากดอกไม้ที่มีลักษณะเฉพาะตัวได้ เช่น การมีขนเส้นใหญ่ที่มีปลายงอเป็นตะขอปรากฏตามรยางค์ปากหรือขาหน้า ผึ้งจะใช้ขนพิเศษนี้ในการล้วงเขี่ยเอาเรณูที่ซ่อนอยู่ลึกภายในดอกไม้ เป็นต้น

ความชอบต่อแหล่งเรณู (pollen preference)
ไม่ใช่ว่าผึ้งจะเข้าตอมดอกของพืชอะไรก็ได้ ขอแค่เพียงเป็นดอกไม้ มีน้ำหวานเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วผึ้งแต่ละชนิด แต่ละกลุ่ม จะมีความชอบต่อแหล่งเรณู (pollen preference) ที่แตกต่างกันไป โดยในการศึกษานิเวศวิทยาของการถ่ายเรณู (pollen ecology) นักนิเวศวิทยานิยมแบ่ง pollen preference ออกเป็น 3 แบบคร่าว ๆ ดังนี้

Polylecty : ผึ้งที่เป็น polylecty นั้นเป็นผึ้งที่มีแหล่งเรณูที่ชอบอยู่หลากหลาย สามารถเข้าเก็บเรณูของพืชหลายชนิด หลายสกุล หลายวงศ์ได้ ผึ้งที่เป็น polylecty จึงมักถูกเรียกว่าเป็น “generalist pollinator” ทำให้มักมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับแหล่งอาศัยที่ต่าง ๆ ได้มากกว่า เพราะมีข้อจำกัดในด้านแหล่งอาหารที่น้อย

Oligolecty : ผึ้งที่เป็น oligolecty นั้นเป็นผึ้งที่มีแหล่งเรณูที่ชอบอยู่น้อย เช่นจะเข้าเก็บเรณูของพืชวงศ์เดียวหรือสกุลเดียวเท่านั้น ผึ้งที่เป็น oligolecty มักถูกเรียกว่าเป็น “specialist pollinator”

Monolecty : ผึ้งที่เป็น monolecty นั้นเป็นผึ้งที่มีแหล่งเรณูที่ชอบอยู่น้อยมาก เช่นจะเข้าเก็บเรณูของพืชสกุลเดียว สกุลย่อยเดียว หรือเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ผึ้งที่เป็น monolecty มักถูกเรียกว่าเป็น “specialist pollinator” เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ นิยามทั้งสามยังมีขอบเขตที่ไม่ชัดเจนนัก ด้วยข้อจำกัดมากมาย โดยเฉพาะความแตกต่างและความหลากหลายของพืชแต่ละกลุ่มที่มีไม่เท่ากัน รวมถึงข้อมูลทางชีววิทยาของผึ้งชนิดต่าง ๆ ที่ยังขาดอยู่ ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้วผึ้งที่มีความเป็น oligolecty หรือ monolecty นั้นมักจะเป็นผึ้งที่มักมีวิวัฒนาการร่วม (coevolution) กับพืชอาหารกลุ่มแคบ ๆ ด้วยความจำเพาะซึ่งกันและกันต่อพืชอาหารนั้น ผึ้งเหล่านี้จึงมักหาพบได้ในพื้นที่จำเพาะและมักต้องการความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาศัย จึงสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (bioindicator) ที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ได้ในบางแง่มุม ในขณะเดียวกัน พื้นที่ชุมชนเมืองที่มีปัจจัยรบกวนมากกว่านั้นมักจะมีพืชที่เป็นวัชพืช หรือพืชต่างถิ่น (introduced species) ที่มีความยืดหยุ่น (plasticity) ที่สูง สามารถมีชีวิตรอดได้ในสภาพที่หลากหลาย ในพื้นที่ชุมชนจะมักพบผึ้งที่เป็น generalist ได้มากกว่า ทั้งนี้การพบผึ้งในแต่ละพื้นที่ยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัยนอกเหนือจากอาหาร

ความสม่ำเสมอในการตอมดอก (flower constancy)
ตั้งแต่กว่า 340 ปีก่อนคริสต์ศักราช นักปรัชญาและผู้รอบรู้ในยุคนั้นอย่างอริสโตเติล (Aristotle) ได้สังเกตพฤติกรรมของผึ้งให้น้ำหวาน Apis mellifera Linnaeus, 1758 อย่างละเอียด อริสโตเติลได้บันทึกไว้ว่า “ในการออกบินหาอาหารของผึ้งงานแต่ละครั้ง ผึ้งงานจะไม่บินแตกแถวไปยังดอกไม้ชนิดอื่น แต่จะบินจากดอกสีม่วง ไปยังดอกสีม่วง และไม่ไปยุ่งกับดอกไม้ชนิดอื่นจนกว่ามันจะบินกลับรัง” ปรากฏการณ์ที่อริสโตเติลบันทึกไว้นั้น ในภายหลังเราเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า “ความสม่ำเสมอในการตอมดอก”

ภาพที่ 9 ลักษณะคอนของผึ้งให้น้ำหวานที่เลี้ยงเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการเกษตร จะสังเกตได้ว่ามีการสะสมของน้ำผึ้งที่เก็บมาจากแหล่งอาหาร

ความสม่ำเสมอในการตอมดอก (flower constancy) หมายถึงการที่ผึ้งเลือกที่จะตอมดอกชนิดเดิมซ้ำ ๆ เพื่อกิจกรรมบางอย่าง เช่น การเก็บรวบรวมอาหาร ซึ่งในมุมมองของพืชแล้ว การเกิด flower constancy นี้จะส่งผลดีในแง่ที่ว่าจะเพิ่มโอกาสสำเร็จในการถ่ายเรณู (pollination) เนื่องจากเรณูของพืชชนิดเดียวกันที่ติดตามตัวผึ้งจะถูกพาไปยังอีกดอกหนึ่งของพืชชนิดเดียวกันได้ และทำให้โอกาสในการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ (sexual reproduction) สูงขึ้น ในขณะที่หากผึ้งบินไปยังดอกของพืชชนิดอื่นก็จะไม่เกิดการถ่ายเรณูขึ้น flower constancy สามารถพบได้ในผึ้งหลายกลุ่ม โดยเฉพาะผึ้งที่มีการดำรงชีวิตแบบสังคมแท้ (eusocial) อย่างผึ้งให้น้ำหวานสกุล Apis ผึ้งหึ่ง (Bombus) และชันโรง (เผ่า Meliponini)

จากจุดนี้ มนุษย์เราจึงนิยมที่จะใช้ผึ้งเป็นตัวช่วยผสมเกสรเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การทำให้ถ่ายเรณูสำเร็จมากขึ้นทำให้เพิ่มโอกาศในการเกิดการปฏิสนธิซ้อน (double fertillization) และเพิ่มโอกาสในการติดผลที่สมบูรณ์มากขึ้นตามลำดับ การใช้ผึ้งจึงสามารถช่วยเพิ่มผมผลิตทางการเกษตรหลายชนิดได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ การเกิด flower constancy นี้ไม่ได้ขึ้นกับความชอบต่อแหล่งเรณู อย่างผึ้งที่เป็น polylecty ที่ตอมดอกของพืชได้หลายชนิดอย่างผึ้งให้น้ำหวาน ก็สามารถมี flower constancy ได้ ซึ่งเคยถูกระบุไว้ตั้งแต่ยุคของอริสโตเติล

ทั้งนี้ หากพิจารณาในมุมมองของตัวผึ้งแล้ว การมี flower constancy นั้นดูขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานที่ว่าสิ่งมีชีวิตมักจะทุ่มเททรัพยากรให้น้อยเพื่อการหาอาหารที่คุ้มค่าที่สุด (optimal foraging model) เช่น ในกรณีที่มีดอกไม้ชนิดอื่นอยู่ใกล้กับรังมากกว่า และยังให้รางวัล (rewards) อย่างน้ำหวานดอกไม้และเรณูมากกว่า แต่แทนที่ผึ้งจะเลือกตอมดอกที่ดูคุ้มค่ากว่านี้ ผึ้งที่มี flower constancy กลับเลือกที่จะทุ่มเททั้งเวลาและพลังงานในการยอมบินไปยังดอกที่อยู่ไกลกว่า ในกรณีนี้นักวิทยาศาสตร์พยายามหาเหตุผลมาอธิบายอยู่หลายทฤษฎี และคาดว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันไปในผึ้งแต่ละชนิด เช่น ปริมาณของรางวัล ระยะห่างจากรังของผึ้ง ความแตกต่างของลักษณะและสีของดอกซึ่งมีผลต่อความจำของผึ้ง เวลาที่จำเป็นต้องใช้บนดอกไม้ชนิดนั้น ๆ เป็นต้น


ทิ้งท้าย
หากจะให้กล่าวโดยรวม จะเห็นได้ว่าในการเป็นตัวช่วยผสมเกสรของผึ้ง ก็ยังมีความซับซ้อนและยังมีข้อมูลเบื้องลึกอีกมากมายที่เราก็ยังไม่ทราบทั้งหมด ยังมีผึ้งอีกมากมายหลายชนิด มีรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างผึ้งกับพืชและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกมากในแง่การช่วยผสมเกสร ทั้งหมดถักทอเป็นระบบนิเวศของโลกที่มีความซับซ้อนเชื่อมโยงกัน แต่ทว่าสถานการณ์ของผึ้งในปัจจุบันกลับเผชิญกับปัญหาหลายอย่างโดยเฉพาะที่มาจากมนุษย์ และความหลากหลายทางชีวภาพที่จะหายไปในอนาคตย่อมสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง การตระหนักถึงความสำคัญของผึ้งและปัญหาที่มนุษยชาติกำลังพบ เร่งวิจัยองค์ความรู้พื้นฐาน และร่วมกันแก้ปัญหาตามกำลังด้วยวิธีที่เหมาะสมจึงยังเป็นสิ่งที่จำเป็นก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป


อ้างอิง

- Michener, C.D. (2007) The Bees of the World. 2nd Edition, John Hopkins University Press, Baltimore.สิริวัฒน์ วงษ์ศิริ, สุรีรัตน์ เดี่ยววาณิชย์. 2555. ชีววิทยาของผึ้ง พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

- Cane J. H. (2020). A brief review of monolecty in bees and benefits of a broadened definition. Apidologie 52(1). DOI:10.1007/s13592-020-00785-y

- Engel, M. S. 2001. The honey bees of Thailand (Hymenoptera: Apidae). Natural History Bulletin of the Siam Society 49(1): 113 –116.

- Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO). (2018). Why Bees Matter: The Importance of Bees and Other Pollinators for Food and Agriculture. Available online: http://www.fao.org/publications/card/en/c/I9527EN (accessed on 31 July 2021)

- Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO). (2021). Bee Engaged – Build Back Better for Bees. Available online: http://www.fao.org/publications/card/en/c/CB4502EN (accessed on 31 July 2021)

- Grant V. (1950). The flower constancy of bees. Bot Rev 16:379-98; DOI:10.1007/BF02869992.

- Michener, C.D. (2007). The Bees of the World. 2nd Edition, John Hopkins University Press, Baltimore.

- Michener, C. D., McGinley, R. J., & Danforth, B. N. (1994). The Bee Genera of North and Central America (Hymenoptera: Apoidea). Washington D.C.: Smithsonian Institution Press.

- Nalinrachatakan P, Chatthanabun N, Thanoosing C, Warrit N (2021). Database and digitization of bees in Thailand. Version 1.17. Chulalongkorn University, Department of Biology. Occurrence dataset https://doi.org/10.15468/tf4ejd accessed via GBIF.org on 2021-07-31.

- Portman et al. (2019). A review and updated classification of pollen gathering behavior in bees (Hymenoptera, Apoidea). Journal of Hymenoptera research 71:171-208. DOI:10.3897/jhr.71.32671

- Reilly JR et al. (2020). Crop production in the USA is frequently limited by a lack of pollinators. Proc. R. Soc. B 287: 20200922. http://dx.doi.org/10.1098/rspb.2020.0922

- Thomson, J.D.; Waser, N.M. (1999). "Flower constancy, insect psychology, and plant evolution". Naturwissenschaften. 86 (8): 361–177. doi:10.1007/s001140050636. S2CID 27377784.

- Thorp, R. W. (1979). Structural, Behavioral, and Physiological Adaptations of Bees (Apoidea) for Collecting Pollen. Annals of the Missouri Botanical Garden, 66(4), 788. doi:10.2307/2398919


เขียนและเรียบเรียงโดย: Pakorn Nalinrachatakan
ภาพ: Varat Sivayapram, Phanuwut Senawong