ความรู้ทั่วไป

ผึ้งคืออะไร? เมื่อพูดถึงผึ้งแล้ว เชื่อว่าหลายๆ ท่าน นึกถึงผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง หรือผึ้งหลวง ที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มในรังที่มีห้องรูปหกเหลี่ยมและมีตัวราชินี นึกถึงน้ำผึ้ง ที่เรานำไปใช้บริโภค บางคนอาจนึกถึงไขผึ้งหรือขี้ผึ้ง ที่ใช้ในการผลิตเทียนโดยเฉพาะในอดีต หรือบางคนอาจนึกถึงพิษและภาพลักษณ์ความเป็นอันตรายจากการโดนต่อย

ภาพที่ 1 ตัวอย่างการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ (Apis mellifera Linnaeus, 1758) เพื่อใช้ประโยชน์ในทางการเกษตร

ทั่วไปแล้ว ผึ้งเป็นแมลงที่มีบทบาทสำคัญในธรรมชาติ เป็นตัวช่วยผสมเกสรให้แก่พืชดอก เนื่องจากเรณู และน้ำต้อย นั้นเป็นแหล่งอาหารของผึ้ง ทำให้ผึ้งมีปฏิสัมพันธ์กับดอกไม้หลายดอก จึงเกิดการผสมเกสร มนุษย์จึงนิยมใช้ผึ้งเป็นตัวช่วยผสมเกสรเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งนั่นทำให้ผึ้งกลุ่มที่เป็นผึ้งให้น้ำหวาน อย่างพวกผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ที่มนุษย์นิยมใช้นั้นเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และเนื่องจากการดำรงชีวิตที่อยู่เป็นรัง ทำให้จัดการง่ายทั้งในแง่การขนส่งรัง และเก็บผลิตภัณฑ์พลอยได้จากรัง อย่างน้ำผึ้ง ไขผึ้ง นมผึ้ง พรอพอลิส หรือแม้กระทั่งพิษผึ้ง


คำว่าผึ้ง ในทางชีววิทยาแล้ว หมายถึงแมลงในกลุ่มทางวิวัฒนาการ (clade) ที่เรียกว่า Anthophila ซึ่งในปัจจุบันมีการค้นพบแล้วมากกว่า 20,000 ชนิดทั่วโลก และในทางอนุกรมวิธานแล้ว ผึ้ง เป็นแมลงที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ Hymenoptera รวมกันกับพวกมด ต่อ แตน และในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์นิยมจำแนกผึ้งออกเป็น 7 วงศ์ (family) อย่างเป็นทางการ ได้แก่ Andrenidae Apidae Colletidae Halictidae Megachilidae Melittidae และ Sternotritidae โดยที่ผึ้งที่ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยรู้จักนั้นคือกลุ่มของผึ้งให้น้ำหวานในสกุล Apis อย่างผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ผึ้งมิ้ม ผึ้งม้าน และผึ้งหลวง แต่แท้จริงแล้วผึ้งทั้งหมดนี้เป็นเพียงกลุ่มหนึ่งของผึ้งในสกุล อยู่ในวงศ์ Apidae เท่านั้น นั่นหมายความว่ายังมีผึ้งอีกหลายชนิดที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก และแน่นอนว่า ส่วนใหญ่ที่เหลือกว่า 99 % นั้นเป็นผึ้งที่มีการดำรงชีวิตแบบโดดเดี่ยว ไม่ได้มีการสร้างรังที่มีแต่ละห้องเป็นรูปหกเหลี่ยม อยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมากโดยมีวรรณะราชินี (queen) ควบคุมวรรณะงาน (worker) อย่างที่มักเข้าใจกันApis

ภาพที่ 2 ผึ้งมิ้ม (Apis florea Fabricius, 1787) กำลังเก็บเรณูบนดอกปืนนกไส้ (Bidens pilosa L.) โดยมีเรณูที่สะสมอยู่ที่ตะกร้าเก็บเรณู (pollen basket) บริเวณส่วน tibia ของขาหลัง


ภาพที่ 3 ผึ้งพันธุ์ (Apis mellifera Linnaeus, 1758) แสดงผึ้งวรรณะราชินี (queen) ที่มีร่างกายขนาดใหญ่ตรงกลางภาพ และผึ้งวรรณะงาน (worker) อยู่รอบ ๆ

สำหรับประเทศไทยเรานั้นมีการพบผึ้งอยู่ 4 จาก 7 วงศ์ มีการค้นพบอย่างเป็นทางการและได้รับการยอมรับในวารสารระดับนานาชาติแล้ว 235 ชนิด ในฐานข้อมูลของ Discoverlife (Ascher & Pickering, 2021) โดยที่ในกลุ่มเด่นโดยคร่าวๆ แล้วจะประกอบไปด้วยกลุ่มของชันโรง (stingless bee) ผึ้งหึ่ง (bumble bee) ผึ้งกัดใบ (leaf-cutter bee) ผึ้งช่างไม้ขนาดใหญ่ หรือ แมลงภู่ (large carpenter bee) ผึ้งช่างไม้ขนาดเล็ก (small carpenter bee) ผึ้งแถบฟ้า (blue-banded bee) ผึ้งลิ้นสั้นหรือผึ้งตอมเหงื่อ (sweat bee) เป็นต้น แน่นอนว่าแต่ละกลุ่มยังประกอบไปด้วยผึ้งอีกหลายชนิด และยังมีอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่ได้กล่าวถึงในส่วนนี้ ยังมีผึ้งอีกหลายชนิดมากที่อาจไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ล้วนมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ


ในทางวิวัฒนาการ ผึ้งนั้นมีความใกล้ชิดกับตัวต่อขุดหลุมในวงศ์ Sphecidae โดยมีลักษณะร่วมกับตัวต่อกลุ่มนี้หลายประการ ทั้งการสร้างรังในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขุดหลุม การเจาะไม้เพื่ออาศัย หรืออยู่ในโพรง เป็นต้น แต่จะมีความแตกต่างอยู่หลักๆ เช่น ลักษณะพฤติกรรมการหากิน ที่ตัวต่อมักใช้เหล็กในเพื่อทำร้ายเหยื่อให้เป็นอัมพาตแล้วจึงนำเหยื่อกลับรัง เพื่อใช้เป็นอาหารของตัวอ่อน ในขณะที่ผึ้งจะใช้เหล็กในเพื่อการป้องกันตัว ไม่ได้มีการใช้เพื่อล่าเหยื่อ ซึ่งแหล่งอาหารของผึ้งอย่างเรณูดอกไม้และน้ำหวานจากดอกไม้นั้นก็อุดมไปด้วยโปรตีน และคาร์โบไฮเดรตตามลำดับ จึงสามารถทดแทนการล่าเหยื่อได้ นอกจากนี้ยังมีลักษณะโครงสร้างทางสัณฐานต่างๆ เช่น ผึ้งมีขนที่เพิ่มขึ้นมาในร่างกายเพื่อช่วยในการเก็บเกี่ยวเรณูดอกไม้และอวัยวะสำหรับหิ้วเรณูดอกไม้กลับรัง แต่ตัวต่อนั้นไม่มีอวัยวะดังกล่าว หรือบริเวณส่วนอก โครงสร้างส่วนยื่นของอกปล้องหน้า (pronotal lobe) จะไม่พัฒนายื่นไปติดกับแผ่นปิดปีกคู่หน้า (tegula) แบบในตัวต่อขุดหลุม

ภาพที่ 4 แมลงภู่ (Xylocopa (Platynopoda) tenuiscapa Westwood, 1840) กำลังเก็บเรณู


ภาพที่ 5 ผึ้งช่างไม้ขนาดเล็ก (Ceratina (Pithitis) smaragdula (Fabricius, 1787)) ที่ทำรังในกิ่งไม้ โดยมีเพศผู้แสดงพฤติกรรมการปกป้องรัง (nest guarding by male) โดยใช้ร่างกายส่วนท้ายบังปากทางเข้ารัง

ผึ้ง เป็นแมลงในอันดับ Hymenoptera ร่วมกันกับพวกมด ต่อ แตน โดยทั่วไปแล้วผึ้งจะมีหนวด 1 คู่ รยางค์ขา 3 คู่ ประกอบไปด้วย ขาหน้า ขากลาง และขาหลัง ในขณะที่ส่วนปีกจะมี 2 คู่ แบ่งเป็นปีกหน้า และปีกหลัง โดยที่ปีกหลังจะมีโครงสร้างที่เรียกว่า hamuli เป็นตะขอที่เชื่อมเกี่ยวเข้ากับส่วนท้ายของปีกหน้า ทำให้ปีกทั้งสองเคลื่อนไหวอย่างสัมพันธ์กัน ขณะที่โดยปกติแล้ว ร่างกายของแมลงในอันดับ Hymenoptera จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ส่วนหัว (head) ส่วนอก (thorax) และส่วนท้อง (abdomen) แต่ในอันดับย่อย Apocrita ซึ่งรวมถึงผึ้งด้วยนั้น แมลงกลุ่มนี้จะมีโครงสร้างที่เรียกว่า propodeum ซึ่งเกิดมาจากการเชื่อมกันของปล้องท้องจริง ๆ ปล้องแรก (1st abdominal segment) เข้ากับกับปล้องอกเป็นแผ่นเดียวกัน กับปล้องท้องปล้องที่สอง (2nd abdominal segment) ที่เข้ามาต่อ ดังนั้น ในแมลงกลุ่มนี้ แท้จริงแล้วร่างกายส่วนที่เห็นเป็นปล้องท้องนั้น ส่วนปล้องแรกที่เห็น คือ ปล้องท้องปล้องที่สอง นักอนุกรมวิธานจึงมีการเรียกแทนส่วนที่เห็นใหม่ ว่าเป็นร่างกายส่วนกลาง (mesosoma) และร่างกายส่วนท้าย (metasoma) แทนส่วนอกและส่วนท้องตามลำดับ และนิยาม “ร่างกายส่วนท้ายปล้องแรก” (1st metasomal segment) จึงถูกเรียกแทนปล้องท้องปล้องที่สองแทนนั่นเอง


ภาพที่ 6 แสดงตัวอย่างผึ้งหลวง (Apis dorsata Fabricius, 1793) ในมุมมองด้านข้าง แสดงให้เห็นการแบ่งร่างกายเป็นสามส่วน ลองสังเกตดูว่าโครงสร้างส่วนใดของผึ้งหลวงในภาพที่หายไป

ถ้าจะให้ระบุลักษณะเด่นของผึ้งเพื่อแยกออกจากกลุ่มอื่น ๆ แล้ว เราจะสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ตามลำดับการจำแนกทางอนุกรมวิธานดังนี้

1. การมีเอวคอด “wasp waist”
ลักษณะเอวคอด เป็นลักษณะสำคัญของอันดับย่อย Apocrita ซึ่งเห็นได้ชัดมากในกลุ่มของมด ต่อ แตน ส่วนเอวที่คอดนี้เกิดขึ้นระหว่างโครงสร้างที่เรียกว่า propodeum นั่นเอง โครงสร้างที่เป็นเอวคอดดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการเคลื่อนที่ส่วนท้อง และความสามารถที่จะงอส่วนท้องเพื่อการวางไข่ในผึ้งเพศเมียในที่แคบได้ดีขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนในกลุ่มของแตนเบียน ที่มีการใช้ส่วนเอวคอดช่วยในการวางไข่

2. การมีเหล็กใน (sting)
เหล็กในเป็นลักษณะที่เกิดในของอันดับฐาน (Infraorder) Aculeata คำว่า Aculeata ในที่นี้มีการผันรากศัพท์จากภาษาละตินคำว่า aculeus ซึ่งแปลว่า ดาบ ซึ่งในที่นี้ก็หมายถึงเหล็กใน (sting) ที่ใช้ในการต่อสู้ ป้องกันตัว หรือปกป้องรัง โดยเหล็กใน มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาขึ้นมาจากอวัยวะสำหรับวางไข่ (ovipositor) เป็นโครงสร้างนำส่งพิษ นี่จึงเป็นสาเหตุที่จะพบเหล็กในเฉพาะเพศเมียเท่านั้น

3. พัฒนาการเพื่อบริโภคพืช
การเปลี่ยนมาบริโภคเรณู (pollen) และน้ำต้อย (nectar) แทนที่จะเป็นผู้ล่าแบบในพวกตัวต่อ เป็นลักษณะสำคัญที่วิวัฒนาการขึ้นในผึ้ง การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้มีลักษณะหลายอย่างเกิดขึ้น เช่น
- รยางค์ปากมีการพัฒนาขึ้น ทำให้ใช้ได้ทั้งการเคี้ยวและการเลีย (chewing-lapping) โดยส่วนกรามจะมีไว้เพื่อกัดเคี้ยววัตถุดิบเพื่อใช้ในการสร้างรัง เพื่อป้องกันตัว หรือเพื่อปั้นก้อนอาหาร เป็นต้น และจะมีส่วนงวงยื่นคล้ายลิ้น (proboscis) เพื่อใช้เลียดูดน้ำหวานจากดอกไม้ ในขณะที่พวกต่อมีเพียงรยางค์ปากแบบกัด
- โครงสร้างเก็บเรณู เนื่องจากผึ้งเพศเมียจำเป็นต้องสะสมอาหารเพื่อนำกลับไปเลี้ยงดูตัวอ่อน ทำให้มักมีการพัฒนาโครงสร้างเก็บเรณูในรูปแบบต่างๆ เช่น โครงสร้างตะกร้าเก็บเรณู (pollen basket) บริเวณส่วน tibia ของขาหลังในพวกผึ้งให้น้ำหวาน โครงสร้างแผงขนเก็บเรณู หรือ scopa ที่พบบริเวณด้านท้องของปล้องตัวส่วนท้ายของผึ้งกัดใบ บริเวณขาหลังของผึ้งลิ้นสั้น รวมไปถึงขนฟูตามร่างกายที่มีการแตกแขนงเป็นพู่ เป็นต้น


ภาพที่ 7 ผึ้งกัดใบ (Megachile sp.) เพศเมียที่กำลังเก็บเรณูจากดอกปอเทือง (Crotalaria juncea L.) สังเกตเห็นเรณูจำนวนมากสะสมอยู่ที่บริเวณส่วนท้อง ด้วยแผงขนเก็บเรณู (scopa)


เขียนและเรียบเรียงโดย: Nontawat Chatthanabun, Pakorn Nalinrachatakan
ภาพ: Varat Sivayapram, Phanuwut Senawong
อ้างอิงเนื้อหาหลักจาก: Michener, C.D. (2007) The Bees of the World. 2nd Edition, John Hopkins University Press, Baltimore.